ความรู้

ความรู้

กรุงเทพฯ แบ่งโซนยังไง พื้นที่ชั้นในชั้นนอกคือตรงไหน เช็กเลย!

วันที่สร้างประกาศ เวลาสร้าง 20 พฤศจิกายน 2567 10:05
เรามักจะเคยได้ยินคนเรียกกรุงเทพฯ ตามโซนต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพโซนเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก รวมไปถึงกรุงเทพฯ ชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก แต่เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าแต่ละโซนคือพื้นที่ไหนบ้าง วันนี้แอดเลยนำข้อมูลการแบ่งโซนของกรุงเทพฯ มาฝากค่ะ
กรุงเทพฯ โซนเหนือ
เริ่มที่กรุงเทพฯ โซนเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับจ.นนทบุรี (อ.เมือง, อ.บางกรวย และ อ.ปากเกร็ด) และปทุมธานี (อ.เมือง และ อ.ลำลูกกา) ได้แก่ เขตบางพลัด บางซื่อ จตุจักร หลักสี่ ดอนเมือง และสายไหม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโซนที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการอยู่อาศัยแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นแหล่งช็อปปิงไลฟ์สไตล์ สถานศึกษา โรงพยาบาล และเต็มไปด้วยแหล่งงาน โดยเฉพาะเขตหลักสี่ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และบริษัทเอกชนมากมาย
ส่วนด้านการเดินทางก็สะดวกสบายใครมีรถส่วนตัวก็สามารถใช้ทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ เพื่อประหยัดเวลาในการเดินทาง หรือใครใช้รถสาธารณะก็มีรถไฟฟ้าหลายสายที่เชื่อมต่อชาวกรุงเทพฯ โซนเหนือเข้าสู่ใจกลางเมืองและโซนอื่น ๆ ได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็น BTS สายสีเขียว ตั้งแต่สถานีจตุจักร ห้าแยกลาดพร้าว แยกรัชโยธิน แยกเกษตรศาสตร์ วงเวียนหลักสี่ สะพานใหม่ แยกคปอ. ยาวไปจนถึงคูคต ทั้งยังมี MRT สายสีชมพู วิ่งผ่านโซนนี้ที่ในพื้นที่หลักสี่อีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น กรุงเทพฯ โซนเหนือ ยังถือเป็นศูนย์รวมการเดินทางเลยก็ว่าได้ เพราะมี “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” Hub การคมนาคมที่สำคัญที่มีทั้ง MRT สายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม รถไฟทางไกล และในอนาคตก็จะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง ลาดกระบังอู่ตะเภา) นอกจากนี้ โซนดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งของสนามบินดอนเมืองที่มีสายการบินให้บริการทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงสถานีขนส่งหมอชิตที่อำนวยความสะดวกให้กับคนที่เดินทางไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
กรุงเทพฯ โซนใต้
ต่อกันที่กรุงเทพฯ โซนใต้ มีอาณาเขตติดต่อจ.สมุทรปราการ (อ.เมือง, บางบ่อ, อ.บางเสาธง, อ.บางพลี, อ.พระประแดง และ อ.พระสมุทรเจดีย์) คลอบคลุมพื้นที่เขตทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ พระโขนง คลองเตย ยานนาวา และบางนา เป็นโซนที่มีระบบคมนาคมสะดวกสบาย โดยมีรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ผ่านถนนสุขุมวิท และในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฏร์บูรณะ เชื่อมต่อคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ โซนใต้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้แบบไม่มีสะดุด
หรือหากใช้รถส่วนตัวก็มีทางด่วนรองรับหลายเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็น ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษกาญจนาภิเษก ซึ่งช่วยประหยัดเวลาในชั่วโมงเร่งด่วนได้เป็นอย่างดี ส่วนใครต้องการไปยังฝั่งพระประแดง จ.สมุทรปราการ ก็สามารถนั่งเรือข้ามฟากจากท่าเรือวัดคลองเตยนอกไปได้
นอกจากนี้ กรุงเทพฯ โซนใต้ยังถือเป็นอีกหนึ่งโซนที่เป็นศูนย์รวมของแหล่งงาน เนื่องจากคลองเตยมีท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศ หรือทำเลพระราม 4 ที่อยู่ในเขตนี้ก็ได้ถูกยกให้เป็น New CBD ของกรุงเทพฯ เพราะมีสำนักงานออฟฟิศและศูนย์การค้าชั้นนำมากมาก ส่วนย่านราษฎร์บูรณะที่อยู่เลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ก็มีโรงงานและคลังสินค้าเรียงรายอยู่ไม่น้อย เพราะสามารถขนส่งสินค้าทางเรือออกสู่อ่าวไทยได้ง่าย
กรุงเทพฯ โซนตะวันออก
ถัดมากรุงเทพฯ โซนตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกับจ.ฉะเชิงเทรา (อ.เมือง และ อ.บางน้ำเปรี้ยว) ประกอบไปด้วยเขตหนองจอก ประเวศ ลาดกระบัง และคลองสามวา เป็นโซนที่ถูกเรียกว่าชานเมือง เนื่องจากอยู่ไกลย่านศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ พอสมควร แต่ถึงอย่างนั้นโซนนี้ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โดยมีขนส่งสาธารณะอย่าง Airport Rail Link วิ่งผ่านพื้นที่ลาดกระบัง ซึ่งสามารถไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นได้ทั้ง BTS สายสีเขียว, MRT สายสีน้ำเงิน, MRT สายสีเหลือง และ MRT สายสีส้มในอนาคต
ส่วนคนที่มีรถส่วนตัวก็สามารถใช้ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษฉลองรัช ไปยังใจกลางเมืองหรือโซนอื่นได้สะดวก อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังมีทางด่วนมอเตอร์เวย์เป็นประตูสู่ภาคตะวันออก และยังอยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ จึงยิ่งเป็นการเสริมให้โซนนี้มีความเพียบพร้อมรอบด้าน จนได้กลายเป็นอีกหนึ่งโซนฮอตของการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะบ้านระดับลักชูรี เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการอยู่อาศัยครอบคลุมทุกมิติ
กรุงเทพฯ โซนตะวันตก
ปิดท้ายที่กรุงเทพฯ โซนตะวันตก มีอาณาเขตติดต่อกับจ.สมุทรสาคร นครปฐม และนนทบุรี (อ.บางใหญ่ และ อ.บางบัวทอง) ได้แก่ เขตตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางขุนเทียน หนองแขม และบางบอน เป็นอีกโซนที่โครงการที่อยู่อาศัยแนวราบมีการเติบโตอย่างเนื่อง โดยเฉพาะบนถนนบรมราชชนนี และพุทธมณฑล เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันไม่แพ้โซนอื่น ๆ
ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ให้ได้ใช้เดินทางได้อย่างง่ายดาย ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนที่มีเพียงรถไฟทางไกลที่มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันตกและภาคใต้ คนที่อาศัยอยู่ในโซนนี้จึงจำเป็นต้องมีรถยนต์ส่วนตัว นอกจากนี้ พื้นที่ตลิ่งชันยังเป็นที่ตั้งของสถานีขนส่งกรุงเทพฯ (สายใต้ใหม่) อีกด้วย
ส่วนการเดินทางโดยรถยนต์ก็สามารถใช้ทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนีสัญจรไปไหนมาไหนสะดวก หรือจะเข้าสู่ย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองก็ใช้เวลาไม่นานมากนัก รวมไปถึงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมตามแผนการขยายเมืองของภาครัฐที่กำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้ อย่างมอเตอร์เวย์ สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก (M9) ช่วงบางขุนเทียน–บางบัวทอง ที่เมื่อสร้างเสร็จและเปิดใช้งานก็จะยิ่งทำให้กรุงเทพฯ โซนตะวันตกคึกคักมากยิ่งขึ้น
พื้นที่ชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอกมีเขตไหนบ้าง
หลังจากที่ได้รู้จักโซนต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้ว ก็ตามแอดไปดูกันต่อว่ากรุงเทพฯ ชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอกได้แก่เขตไหนบ้าง ไปกันเลยย
กรุงเทพฯ ชั้นใน
มีทั้งหมด 21 เขต ได้แก่ เขตพระนคร, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, สัมพันธวงศ์, ปทุมวัน, บางรักเขตวัฒนา, ยานนาวา, สาทร, บางคอแหลม, ดุสิต, บางซื่อ, พญาไท, ราชเทวี, ห้วยขวาง, คลองเตย, จตุจักร, ธนบุรี, คลองสาน, บางกอกน้อย, บางกอกใหญ่ และดินแดง
กรุงเทพฯ ชั้นกลาง
มีทั้งหมด 18 เขต ได้แก่ เขตพระโขนง, ประเวศ, บางเขน, บางกะปิ, ลาดพร้าว, บึงกุ่ม, บางพลัด, ภาษีเจริญ, จอมทอง, ราษฏฐ์บูรณะ, สวนหลวง, บางนางนา, ทุ่งครุ, บางแค, วังทองหลาง, คันนายาว, สะพานสูง และสายไหม
กรุงเทพฯ ชั้นนอก
มีทั้งหมด 11 เขต ได้แก่ เขตมีนบุรี, ดอนเมือง, หนองจอก, ลาดกระบัง, ตลิ่งชัน, หนองแขม, บางขุนเทียน, หลักสี่, คลองสามวา, บางบอน และทวีวัฒนา
เราก็ได้รู้กันไปแล้วว่ากรุงเทพฯ แต่ละโซนอยู่ตรงไหนกันบ้าง และคงเห็นกันแล้วว่าแม้บางโซนจะเป็นพื้นที่ชานเมืองที่ไกลจากกรุงเทพฯ ชั้นใน แต่ก็มีโครงข่ายคมนาคมเชื่อมต่อคนจากทุกมุมเมืองไปมาหาสู่กันได้แบบไร้รอยต่อ และแน่นอนว่ายังมีอีกหลายโครงการในอนาคตที่จะเข้ามาเติมเต็มการใช้ชีวิตของคนกรุงให้ง่ายยิ่งขึ้น
ที่มา แผนการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๖๐

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

ดูหัวข้ออื่นเพิ่มเติม