ความรู้

ความรู้

แนะนำลูกค้าไว้ก็ดี ปัญหาจากการ “กู้ร่วม” คิดให้ดีก่อนเป็นหนี้ร่วมกัน

วันที่สร้างประกาศ เวลาสร้าง 10 พฤษภาคม 2565 11:32
การกู้ร่วม ถือเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่ต้องผ่านการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน เรียกว่าเป็นสัญญาใจและความรับผิดชอบที่ผู้กู้จะต้องมีร่วมกัน
การกู้ร่วมจะมีผู้กู้ไม่เกิน 3 คน และต้องเป็นคนในครอบครัวนามสกุลเดียวกัน พ่อแม่เดียวกัน หรือคู่สามีภรรยาที่มีหลักฐานคู่ครองชัดเจน ข้อดีของการกู้ร่วมคือช่วยให้การขออนุมัติสินเชื่อในวงเงินสูงสุดผ่านได้ง่าย

และเป็นหลักประกันว่าผู้กู้จะสามารถผ่อนชำระได้จนหมดสัญญา ซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่าจะใส่ชื่อผู้กู้คนเดียวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือใส่ชื่อของผู้กู้ร่วมทุกคนให้มีสิทธิ์เท่าๆ กันได้
เมื่อมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย เพราะหลายคนเจอปัญหาผู้กู้ร่วมไม่จ่ายชำระหนี้และปล่อยทิ้งกลางคัน จนภาระมาตกอยู่กับผู้กู้คนอื่นๆ ซึ่งมันก็สร้างปัญหาใหญ่ให้ใครหลายคนจนถึงขั้นบ้านแตกกันมาแล้ว

ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจกู้ร่วมเราควรศึกษาข้อดีข้อเสียให้ดีก่อน หากใครยังนึกภาพปัญหาที่จะตามมาไม่ออกลองไปดูตัวอย่างพร้อมสรุปข้อควรระวังเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนยื่นเรื่องกู้ร่วม
ตัวอย่าง นาย A และนาง B เป็นพี่น้องที่ตกลงกู้เงินซื้อบ้านร่วมกัน แต่ระหว่างผ่อนชำระ นาย A สร้างหนี้บัตรเครดิตและไม่สามารถจ่ายได้ ทางเจ้าหนี้ได้ส่งหมายบังคับยึดทรัพย์มาให้และตรวจสอบพบว่าทรัพย์สินเดียวที่มีคือบ้านหลังที่กู้ร่วมกับนาง B

กรณีนี้ ถ้านาย A ไม่สามารถจ่ายหนี้ และนาง B ไม่สามารถบังคับให้นาย A ชำระหนี้ได้ บ้านหลังที่กู้ร่วมกันก็จะถูกยึดทันทีโดยที่นาง B ไม่สามารถคัดค้านได้ นอกจากจะมีการเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้และธนาคาร
1. ความยินยอมที่จะมีภาระร่วมกัน
อย่างที่บอกไปแล้วว่าการกู้ร่วมทำได้เฉพาะกับคนในครอบครัวหรือสามีภรรยาเท่านั้น และถึงแม้จะเป็นคนที่มีความใกล้ชิดสนิทสนม ก็ควรคำนึงถึงความมั่นคงระยะยาวของผู้ร่วมกู้ว่าจะสามารถผ่อนจ่ายไปด้วยกันได้ตลอด

หรือไม่และจำนวนเงินที่ต้องจ่ายจะไม่กระทบกับการใช้ชีวิตของผู้ร่วมกู้ เรียกว่าต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจจากทั้งสองฝ่าย
2. หนี้ที่มีไม่ได้หารเท่ากัน
การกู้ร่วมไม่ได้แปลว่าทุกคนจะหารหนี้เท่าๆ กัน เช่น สามีลงชื่อกู้ร่วมกับภรรยา แต่เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถชำระหนี้ส่วนของตัวเองได้ ผู้กู้ร่วมอีกฝ่ายต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หากทรัพย์สินถูกยึดและขายทอดตลาดภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะต้องตกไปเป็นของผู้กู้อีกคน
3. ผู้ร่วมกู้มีปัญหาหนี้สินและได้รับหมายบังคับยึดทรัพย์
กรณีผู้กู้ร่วมโดนหมายบังคับยึดทรัพย์ และทรัพย์สินเดียวที่มีคือบ้านที่กู้ร่วมกับเรา รับรองว่าเกิดปัญหาแน่นอนเพราะแม้จะมีชื่อเราเป็นเจ้าของบ้าน แต่ชื่อผู้กู้เป็นของทั้ง 2 ฝ่าย

หากอีกฝ่ายโดนยึดทรัพย์นั่นแปลว่าบ้านที่ทำการกู้ร่วมจะโดนยึดไปทันที นี่เป็นหนึ่งตัวอย่างของความไม่พร้อม ถ้าหากไม่มั่นใจในตัวผู้กู้ร่วมอย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจยื่นขออนุมัติเป็นอันขาด
4. ขายทอดตลาดได้แล้วก็ยังต้องจ่ายชำระส่วนที่เหลือ
ถ้ามีการขายทอดตลาดบ้านที่โดนยึด จำนวนเงินที่ขายได้ทั้งหมดจะตกเป็นของธนาคารที่เป็นผู้ให้กู้และเมื่อหักลบกับหนี้สินและจำนวนเงินกู้ทั้งหมดแล้ว ยอดที่เหลือเราก็ยังต้องจ่ายชำระให้กับธนาคารจนหมด
5. การขายบ้านทิ้งต้องได้รับความยินยอมจากทั้ง 2 ฝ่าย
หากจะขายบ้านจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากทั้ง 2 ฝ่าย ผู้กู้คนใดคนหนึ่งไม่สามารถขายบ้านได้หากอีกฝ่ายไม่ยอมรับ และเมื่อตกลงว่าจะขายบ้านแล้ว อย่าลืมว่ามีค่าใช้จ่ายที่ตามมาอีกภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมการโอน ค่าอากรสแตมป์ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และอื่นๆ
ใครที่กำลังตัดสินใจจะกู้ร่วมควรพิจารณาให้ดีก่อน เพราะแม้จะเป็นคนที่ไว้ใจและเชื่อถือได้ แต่ก็อาจเกิดปัญหาการเงินที่ไม่คาดฝันและไม่ตั้งใจ ไม่ว่าจะด้วยอุบัติเหตุ โรคร้าย หรือภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจนกระทบกับเงินที่ต้องใช้ผ่อนชำระ อย่าลืมว่าผู้กู้ร่วมทุกคนต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันนะ

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

ดูหัวข้ออื่นเพิ่มเติม