ความรู้

ความรู้

เงินสดขาดมือ แต่มีอสังหาฯปลอดภาระ "ขายฝาก" ช่วยได้จริงไหม มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร ต้องมาดู

วันที่สร้างประกาศ เวลาสร้าง 4 มีนาคม 2565 10:08
บางช่วงชีวิตของเพื่อนๆ อาจเคยตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าเงินขาดมือกันมาบ้างใช่มั้ยล่ะครับ เป็นช่วงที่เรียกได้ว่ายากลำบากน่าดูเลย เพราะจำเป็นต้องใช้เงินแต่ไม่มีเงินให้ใช้ ทีนี้จะทำยังไงดีล่ะ ทางออกก็จะเหลือไม่มากครับ หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาก็คือนำทรัพย์สินที่มีอย่างที่ดิน บ้าน หรือคอนโดไปทำการ "ขายฝาก" นั่นเอง แต่การขายฝากมันก็จะมีรายละเอียดสำคัญที่ต้องศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ
เรามาดูกันดีกว่าว่าการขายฝากนั้นมีรายละเอียดยังไง รวมทั้งข้อดีและข้อเสีย เพื่อประกอบการตัดสินใจเผื่อเจอปัญหาในอนาคตจะได้ตัดสินใจถูกว่าเลือกทางไหนดี
การขายฝากคืออะไร
สำหรับความหมายของการขายฝาก ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ มันก็คือการกู้เงินรูปแบบหนึ่งนั่นล่ะครับ เป็นการกู้เงินโดยขายทรัพย์สินของตนเองให้เจ้าหนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าลูกหนี้จะมาไถ่ทรัพย์คืนตามระยะเวลาที่ตกลงกัน แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ไถ่คืนได้ภายใน 3 ปี ส่วนอสังหาริมทรัพย์สามารถไถ่คืนได้ภายใน 10 ปี
ข้อดีของขายฝากมีอะไรบ้าง
ข้อดีของการขายฝากนั้นพอจะสรุปออกมาเป็นหัวข้อให้เพื่อนๆ เข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้ครับ


1. การขายฝากส่วนมากนั้นผู้ให้กู้จะให้วงเงินสูงกว่าการกู้รูปแบบอื่น ซึ่งผู้ให้กู้บางรายอาจให้มากถึง 60% ของราคาประเมินได้เลยทีเดียว


2. การขายฝากมีระยะเวลาในการไถ่ถอนที่ยืดหยุ่น โดยผู้ทำการขายฝากสามารถยืดระยะเวลาในการไถ่ถอนได้เรื่อยๆ แต่ต้องไม่เกินที่กำหนดไว้ สมมติถ้าตกลงกับเจ้าหนี้ไว้ว่าจะมาไถ่ทรัพย์คืนภายใน 1 ปี หากถึงเวลาแล้วยังไม่พร้อม ก็สามารถยืดเวลาออกไปอีกกี่ครั้งก็ได้ แต่ต้องไม่เกินที่กฎหมายกำหนด


3. ลูกหนี้จะไม่ถูกเอาเปรียบจากการคิดดอกเบี้ยโหดๆ แน่นอน เพราะกฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้จะไม่สามารถคิดดอกเบี้ยจากการขายฝากได้เกิน 15% ต่อปีหรือ 1.25% ต่อเดือนเท่านั้น
แล้วข้อเสียของการขายฝากล่ะ
แน่นอนว่าทุกอย่างต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การขายฝากก็เช่นกันครับ นอกจากข้อดีดังที่กล่าวไปแล้ว ทีนี้เรามาดูข้อเสียกันบ้างว่าเป็นอย่างไรบ้าง


1. ผู้ขายจะเสียกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทันทีที่ตกลงทำสัญญาขายฝาก เหมือนกับเราขายของให้ลูกค้าไปแล้ว ผู้รับซื้อจึงใช้สอยทรัพย์ได้เพราะมีสิทธิในทรัพย์นั้นอย่างสมบูรณ์ครับ แม้จะมีเงื่อนไขว่าสามารถซื้อคืนได้ก็ตาม


2. ถ้าเราไม่นำเงินไปจ่ายเพื่อไถ่ทรัพย์คืนเมื่อถึงกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญา เจ้าหนี้จะได้สิทธิ์ขาดในทรัพย์สินนั้นทันทีโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าหรือฟ้องบังคับใดๆ ทั้งสิ้น


3. มีค่าใช้จ่ายสูง เพราะผู้ขายฝากต้องเสียทั้งค่าธรรมเนียมโอน 2% ของราคาประเมิน ภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ นั่นแปลว่ายิ่งทรัพย์สินมีราคาประเมินสูงก็จะต้องเสียเงินเยอะตามไปด้วย... กว่าจะได้เงินก็โดนซะอ่วมเลย
คุ้มหรือไม่ที่จะทำสัญญาขายฝาก
ผมคิดว่าการขายฝากนั้นมีข้อเสียมากกว่าข้อดีครับ เพราะผู้ที่ซื้อไปสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์นั้นได้ทันทีตั้งแต่เซ็นสัญญาซื้อขาย ไม่เหมือนการวางทรัพย์สินเพื่อกู้เงินด้วยวิธีอื่นอย่างการจำนอง ที่เจ้าหนี้เพียงแค่ถือทรัพย์ของเราไว้เป็นประกันอย่างเดียว ต้องฟ้องต่อศาลจึงจะมีสิทธิ์เหนือทรัพย์นั้นได้ นอกจากนี้ การขายฝากยังมีค่าใช้จ่ายสูงอีกต่างหาก เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสียครับ
จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเพื่อนๆ แล้วล่ะครับว่าจะตัดสินใจยังไง เพราะมีหลายช่องทางที่จะเปลี่ยนจากทรัพย์สินที่ถืออยู่ให้กลายเป็นเงินได้ แต่ผมว่าไปใช้วิธีจำนำหรือจำนองจะดีกว่าครับ เพราะเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินของเรา แถมค่าใช้จ่ายก็ถูกกว่าด้วย

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

ดูหัวข้ออื่นเพิ่มเติม