💗 หัวใจสำคัญของการมีรายได้สม่ำเสมอจากอสังหาริมทรัพย์ มาจาก Property management ที่ดี!!
หรือแม้แต่ผู้เช่ามีเงินจ่ายตรงดี หากเจ้าของไม่เตรียมเงินซ่อมบำรุงเผื่อไว้ แถมเอาค่าประกันไปหมุนใช้ส่วนตัวเสียแล้ว เมื่อข้าวของเครื่องใช้ในห้อง ที่วันหนึ่งก็ต้องมีการเสื่อมสภาพ เสียหาย ตามธรรมชาติ และอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าของบ้าน แต่ไม่มีงบประมาณเพื่อซ่อมแซม ปรนนิบัติบำรุง ที่เพียงพอ ผู้เช่าเขาก็เดือดร้อน อาศัยอยู่ไม่ไหว ต้องขอย้ายออก ซึ่งสุดท้ายก็มีผลต่อรายได้ที่หดหายของเจ้าของบ้านนั่นเอง หรือบางกรณีรุนแรงเป็นคดีความเรื่องไม่คืนเงินประกันเพราะเจ้าของหมุนใช้ไปหมดแล้ว ก็มีให้เห็นอยู่มาก
ตามกฏหมายประเทศไทย นายหน้าหรือเอเจน เขามีหน้าที่ชี้ช่องหาผู้เช่ามาเช่า แล้วรับค่าทำการตลาดไป แต่ไม่หมายรวมถึงการให้บริการดูแลจัดการทรัพย์สิน และผู้เช่าด้วย ดังนั้น เจ้าของทรัพย์ทุกคนควรทราบความจริงข้อนี้ และไม่ฝากความหวังในการดูแลทรัพย์ไว้ที่เอเจนแต่เพียงอย่างเดียว เพราะนอกจากจะไม่ประสิทธิภาพแล้ว ยังเสียเวลาทะเลาะกันเพราะความคาดหวังไม่สอดคล้องอีกด้วย
การจัดหาผู้เช่า เป็นกิจกรรมทางการตลาด ที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Property management เท่านั้น เพราะการคงสภาพของทรัพย์ให้มีมูลค่า สามารถสร้างรายได้ให้เจ้าของได้อย่างต่อเนื่อง ยังครอบคลุมไปถึง
: จัดหาช่างเพื่อการซ่อมแซมเมื่อมีความเสียหาย
: จัดสรร กำหนดงบประมาณเพื่อการซ่อมบำรุง
: มีความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการเช่าได้อย่างถูกต้อง
ดังนั้น คิดจะลงทุนต้องคิดให้รอบคอบก่อนเป็นหนี้
- ค่าผ่อนธนาคารต่อเดือน
- ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายปี
- ภาษีเงินได้รายปี
- ค่ารีโนเวท
- ค่าซ่อมแซมเล็กน้อยระหว่างปี
- ค่าทำความสะอาดก่อนเข้าอยู่ และย้ายออก
- ค่าน้ำ ค่าไฟ เดือนที่ไม่มีคนเช่า
- ค่าส่วนกลาง
- ค่าบริหารจัดการการเช่า 8-10%
- ภาษี ค่าโอน ค่าใช้จ่ายต่างๆตอนซื้อ
ซึ่งทั้งหมด ต้องนำมาคำนวณเป็นต้นทุนการบริหารจัดการ
ใครมีมากกว่านี้ก็เพิ่มเติมลงไปนะคะ แต่ชัดๆเลยว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดการอสังหาฯ ไม่ใช่มีแค่ค่าเอเจน กับค่าผ่อน แน่ๆ
เห็นโฆษณาคอนโดเงินเหลือ พากู้ซื้อคอนโด แล้วจะแปลงร่างพนักงานประจำที่มีสลิปเงินเดือนขาวสะอาด ให้เป็นนักลงทุนคอนโดผู้มีอนาคตสดใสแล้วหวั่นใจ กับหนี้ครัวเรือนของประเทศที่จะเพิ่มกระฉูดในอนาคต หากคนไทยไม่หาความรู้ก่อนซื้ออสังหาฯ
ลองคิดเล่นๆว่าคนไทย 1 คนเป็นหนี้กันคนละ 1 ล้าน จากการใช้เวลาทำเรื่องซื้อคอนโดไม่กี่วัน ผ่านไปหนึ่งปี ผู้เช่าที่เอเจนซี่คนขายพามาเช่าไว้ตอนแรกย้ายออกไป ห้องก็ว่างไม่มีคนเช่า เจ้าของที่ไม่รู้จักตลาด หาผู้เช่าไม่เป็น ไม่มีความรู้ในการบริหารทรัพย์สิน แถมรายได้ตัวเองก็ยังดูแลครอบครัวไม่ไหว ต้องหั่นเอามาจ่ายค่าผ่อน ค่าซ่อมบำรุงคอนโดอีก เขาจะไปรอดได้สักกี่น้ำ?
และในที่สุดก็ต้องปล่อยหลุดมือ ไปติดเป็นหนี้เสียก้อนมหึมาอยู่ที่ธนาคาร
แบงค์ปล่อยกู้ยากๆนี่แหละ ถูกต้องแล้วค่ะ
น่ากลัวมากว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ประเทศของเราจะมีหนี้ที่เป็น NPL จากการซื้อบ้านมากแค่ไหน? จากคนไม่รู้ แค่หลักหมื่นคน ก็ช่วยกันสร้างหนี้เสียได้เป็นหมื่นล้านแล้วนะคะ
ทุกวันนี้ มีเจ้าของเอาทรัพย์ คอนโดห้องเล็กห้องน้อยมาเสนอขายให้เต็มไปหมด เพื่อจะขายปิดภาระ แต่ก็ปิดไม่ได้ เพราะมูลค่าที่จะขาย คำนวณตามศักยภาพการทำเงินของทรัพย์นั้น ไม่พอปิดกับธนาคาร หลายคนไม่เข้าใจแม้กระทั่งเรื่องสัดส่วนการตัดต้น ตัดดอกของธนาคาร และที่น่าตกใจหนักเข้าไปอีก คือ เจ้าของคอนโดมือใหม่เหล่านี้ ไม่รู้แม้กระทั่งการคำนวณผลการตอบแทนจากการเช่า 😔 น่าเศร้าว่า พวกเขาไม่รู้ว่าจะทำเงินกับการลงทุนนี้อย่างไร แต่กล้าเป็นหนี้ไปแล้วหลายล้าน...